PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดย PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matters หรือฝุ่นละออง
ส่วนตัวเลข 2.5 คือขนาดของฝุ่นละออง ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากถามว่า 2.5 ไมครอนนี้เล็กขนาดไหน ก็คงเทียบได้ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เรียกได้ว่าเล็กจนขนาดขนจมูกของคนเรา ซึ่งทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้น ไม่สามารถดักจับฝุ่นเหล่านี้ได้เลย
ด้วยขนาดที่เล็กมากของฝุ่น PM2.5 ซึ่งลอยอยู่ในอากาศร่วมกับไอน้ำ ควัน ก๊าซต่าง ๆ จึงทำให้แพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอันตรายอื่น ๆ ที่เคลือบอยู่บนผิวของฝุ่นเข้ามาอีกด้วย เช่น สารปรอท สารโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ซึ่งสารเหล่านี้ส่งผลเสียกับร่างกายเป็นอย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5
- ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชต่าง ๆ
- ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง
- การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสีย การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์
- การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาปิโตรเลียมและถ่านหิน
- กิจวัตรต่าง ๆ ของคน เช่น สูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน เผากระดาษ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร
จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าต้นกำเนิดฝุ่นพิษ PM 2.5 กว่า 60% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดควันดำและฝุ่น และอีกราว 35% มาจากการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง และการก่อสร้าง
สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังโดน PM 2.5 เล่นงานแล้วล่ะ!
สำหรับใครที่กำลังคิดว่า PM2.5 ไม่อันตรายหรอก เป็นแค่ฝุ่นเอง ถ้าคิดอย่างนี้ล่ะก็ เปลี่ยนความคิดด่วนเลยค่ะ เพราะด้วยละอองฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ซึ่งฝุ่นพิษนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก และในกรณีที่โหดร้ายที่สุด อาจจะเสียชีวิตจากแค่สิ่งที่เรียกว่าฝุ่นก็ได้นะคะ มาดูกันว่า อาการอะไรบ้าง ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังโดนเจ้าฝุ่นร้ายนี้เล่นงานอยู่
- ตาแดง บริเวณเปลือกตาบวม ใต้ตาช้ำ สังเกตได้จากสีที่คล้ำขึ้น มีน้ำตาไหลบ่อย ๆ
- ผิวหนัง เป็นตุ่มหรือผื่น นูนแดงกระจายไปทั่วบนผิวหนัง
- รู้สึกคัน แสบ หรือแน่นในโพรงจมูก มีน้ำมูกแบบใส
- ไอ จาม รู้สึกแน่นหน้าอก
- ตัวร้อน มีไข้
ในช่วงแรกหลังจากที่ได้รับฝุ่น PM2.5 จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก แต่หากได้รับฝุ่นเหล่านี้ ติดต่อกันเป็นเวลานานจนสะสมในร่างกาย จะได้รับผลกระทบร้ายในระยะยาวทั้งภายใน และภายนอก
- สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น
- โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
- อาจเป็นโรคร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคมะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ
- ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ถ้าเป็นหนักมากอาจเกิดลมพิษบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ
- ทำร้ายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวอ่อนแอ เหี่ยวย่นง่าย
- หากผู้ที่ตั้งครรภ์สูดดม PM2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลจาก PM 2.5
เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ปัญหาเรื่องมาตรการควบคุมก็ดูจะใหญ่เกินไปสำหรับประชาชนธรรมดา ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือการดูแลป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5
- ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกในร่างกายได้
- งดสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
- ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์
- ดูแลรถยนต์ของตัวเองให้อยู่เสมอเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษ เช่น การเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
- เปลี่ยนไส้กรองแอร์รถยนต์ เพื่อกรองอากาศ ฝุ่น มลพิษ เข้าสู่ภายในห้องโดยสาร
- สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดที่เล็กมาก หน้ากากอนามัยกระดาษทั่วไป ไม่สามารถดักจับฝุ่นนี้ได้นะคะ จึงจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยที่มีความหนากว่าปกติ (N95)
สรุป
PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบร้ายกับร่างกาย อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นทุกปี ๆ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่สามารถกำจัดฝุ่นควันเหล่านี้ให้หมดไปอย่างถาวรได้ ดังนั้น เราต้องดูแลตนเองและยุติพฤติกรรมที่ก่อมลพิษ และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง PM2.5 ได้ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่นควันแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคต่าง ๆ มาอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://allwellhealthcare.com